Bunchee Tips |
"กรณีย้ายสถานประกอบการ ใบกำกับภาษีเดิมจะยังใช้ได้อยู่?" |
|
กรณีย้านสถานประกอบการ ใบกำกับภาษีต้องระบุที่อยู่ใหม่
กรณีที่อยู่ของผู้ประกอบการฯ ของผู้ออกใบกำกับภาษีเปลี่ยนไป เช่น การย้ายสถานประกอบการ และได้แจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่ต่อหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฏหมาย และต่อหน่วยงานที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว กรณีดังกล่าวใบกำกับภาษีที่จะออกให้ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ จะต้องระบุที่อยู่ของสถานประกอบการแห่งใหม่ (ข้อ11 วรรคหนึ่งของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542) จะนำใบกำกับภาษีซึ่งเป็นที่อยู่ของสถานประกอบการเดิมมาออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการไม่ได้ ถ้าหากนำใบกำกับภาษีตามที่อยู่เดิมมาออกให้แก่ลูกค้าจะมีความผิดตามมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีดังกล่าวกรมสรรพากรไม่ได้อนุโลมหรือมีข้อผ่อนปรนใดๆ แม้จะเหลือแบบพิมพ์ที่ได้พิมพ์ไว้เดิมเป็นจำนวนมากก็ตาม ดังนั้นผู้ออกใบกำกับภาษีที่มีแผนการที่จะย้ายสถานประกอบการจะต้องเตรียมแผนงานในการจัดทำและออกใบกำกับภาษีให้ตรงกับที่อยู่ของสถานประกอบการใหม่ด้วย
อย่างไรก็ดี มีบางกรณีที่ผู้ประกอบการฯ มิได้มีการย้ายสถานประกอบการ แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเลขที่ของที่อยู่ของสถานประกอบการ กรมสรรพากรได้อนุโลมให้นำใบกำกับภาษีที่ปรากฏอยู่ตามเลขที่เดิมมาใช้จนกว่าจะหมดได้ เช่น ยื่นแบบ ภ.พ.01 ระบุเลขที่สถานประกอบการเพียงเลขที่เดียว คือ 39 ต่อมาได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเลขที่อยู่ให้ถูกต้องเป็นเลขที่ 27 29 31 33 35 37 39 ถึงแม้รายการเลขที่อยู่ของสถานประกอบการฯ ในใบกำกับภาษีถือเป็นรายการที่เป็นสาระสำคัญ แต่เนื่องจากเลขที่ที่อยู่และสถานที่ตั้งของผู้ประกอบการมิได้ย้ายหรือเปลี่ยนแปลงประกอบกับสามารถเห็นได้อย่างชัดแจ้ง ไม่ก่อให้เกิดความสับสนว่ามิใช่ที่ตั้งของสถานประกอบการของบริษัทแล้ว ก็อนุโลมให้ใช้ใบกำกับภาษีดังกล่าวได้จนกว่าจะหมด แต่หากได้จัดพิมพ์แบบฟอร์มใบกำกับภาษีขึ้นใหม่ จะต้องพิมพ์ที่อยู่ให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่ได้แจ้งรายการเปลี่ยนแปลงที่อยู่
นอกจากนี้มีข้อสังเกตุว่า กรณีผู้ประกอบการมีสถานที่ตั้งอยู่ในอาคาร ต่อมาได้มีการย้ายชั้นของสถานประกอบการจากชั้นเดิมไปอยู่ชั้นใหม่ซึ่งอยู่ในอาคารเดียว การย้ายชั้นไม่ถือว่าเป็นการย้ายสถานประกอบการ (ข้อความว่า "ชั้นที่..." ไม่ถือว่าเป็นที่อยู่ของสถานประกอบการ) ผู้ประกอบการก็ยังคงมีสิทธินำใบกำกับภาษีชุดเดิมมาออกใก้แก่ลูกค้าได้ต่อไป
ในกรณีที่ทางราชการได้มีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ได้แก่ เลขที่บ้าน ชื่อถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัด ใหม่ซึ่งจะทำให้ที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษีที่ได้จัดพิมพ์ไว้แล้วในใบกำกับภาษีมีรายการไม่ถูกต้อง กรณีดังกล่าวผู้ประกอบการมีสิทธิที่จะแก้ไขที่อยู่ให้ถูกต้องตามที่ราชการได้เปลี่ยนแปลงได้โดยวิธีขีดฆ่าแก้ไขที่อยู่พร้อมลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขหรือใช้วิธีประัทับตรายางด้วยที่อยู่ที่ถูกต้องก็ได้ ทั้งนี้การแก้ไขดังกล่าวกระทำได้เฉพาะใบกำกับภาษีที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน1ปี นับแต่วันที่ทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษีดังกล่าว (ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.46/2537 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2537)
ข้อสังเกต กรณีราชการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ดังกล่าว ผู้ประกอบการฯ ยังคงต้องจดแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้นตามมาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฏากร
(ที่มา : คำอธิบาบ VAT ภาษีซื้อทั้งระบบ อาจารย์อมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์)
|
|
|
|